สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Global Center for Mekong Studies (GCMS)

สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Global Center for Mekong Studies (GCMS)

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 443 view

สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Global Center for Mekong Studies (GCMS) ภายใต้หัวข้อหลัก “Mekong-Lancang Cooperation (MLC): Towards an Inclusive, Sustainable and Prosperous Community of Shared Future” ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ณ หลวงพระบาง สปป.ลาว

 

          นางสาวลดา ภู่มาศ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ในฐานะผู้อำนวยการ Global Center for Mekong Studies (GCMS) Thailand Center ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ GCMS ภายใต้หัวข้อหลัก “Mekong-Lancang Cooperation (MLC): Towards an Inclusive, Sustainable and Prosperous Community of Shared Future” ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ณ หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผลการศึกษาทางวิชาการระหว่าง GCMS ของสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาวเมียนมา ไทย และเวียดนาม รวมทั้งหารือทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของ GCMS และบทบาทของ GCMS ในการสนับสนุนกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC)

 

          การประชุมครั้งนี้มีเอกอัครราชทูต Khamsouay Keodalavong ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศลาว และผู้อำนวยการ GCMS Laos Center และ Dr. Ying Rong ผู้อำนวยการ GCMS China Center เป็นประธานร่วม โดยมีนาย Thongphane Savanphet รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว และนาย Vongsavanh Thephachanh รองผู้ว่าการแขวงหลวงพระบาง เข้าร่วมพิธีเปิด ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประธานร่วมการประชุมได้เชิญผู้แทนจากประเทศนอกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงเข้าร่วมนำเสนอผลการศึกษาทางวิชาการและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CSIS) อินโดนีเซีย คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำ สปป.ลาว สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประจำ สปป.ลาว และผู้แทนสหภาพยุโรปประจำ สปป.ลาว เป็นต้น

 

          หัวข้อการประชุมย่อยที่น่าสนใจ ได้แก่ การดำเนินการของ MLC เพื่อสนับสนุนวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (UN 2030​ Agenda​ for Sustainable​ Development​) การสอดประสานการดำเนินงานของกลไกระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อสนับสนุนการสร้างแถบการพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Economic Development Belt: MLEDB) ขอบเขตการดำเนินงานของ GCMS และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ GCMS ต่อการสร้าง MLEDB ผู้เข้าร่วมการประชุมเห็นพ้องว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างจริงจัง รอบด้าน โดยพิจารณาถึงความพร้อมและความสะดวกใจของสมาชิก GCMS ทุกประเทศ เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์ของ GCMS ใน MLC

 

           อนึ่ง GCMS เป็นเวทีหารือด้านวิชาการในลักษณะ Track ๑.๕ ที่ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๙ โดยที่ประชุมระดับรัฐมนตรี MLC ครั้งที่ ๒ ที่เสียมราฐ กัมพูชา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ