สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ
“สู่ความเป็นเลิศทางการทูต”
สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทางการทูตการต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ มีภารกิจหลักในการหล่อหลอมนักการทูตไทยให้มีความ “ครบเครื่อง” มีความรอบรู้และมีความสามารถ มีความเป็นนักการทูต “มืออาชีพ” มีคุณสมบัติและมีศักยภาพทัดเทียมนักการทูตระดับสากล สถาบันการต่างประเทศฯ ได้ดำเนินการพัฒนานักการทูตทุกระดับอย่างต่อเนื่องสอดรับกับแผนแม่บทด้านการต่างประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผน 5S/๕มี โดยเฉพาะประเด็น Synergy (มีพลัง) ว่าด้วยการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรและบุคลากรด้านการทูตการต่างประเทศ นับตั้งแต่แรกบรรจุเข้ารับราชการถึงระดับเอกอัครราชทูต โดยจะมุ่งเน้นการต่อยอดองค์ความรู้ทั้งทางด้านการทูตการต่างประเทศที่ทันสมัยและเท่าทันต่อพลวัตแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ การพัฒนาทักษะเฉพาะสำหรับการปฏิบัติงานของนักการทูต ภาษาต่างประเทศ รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและทัศนคติในการเป็นข้าราชการที่ดี อันจะนำมาซึ่งการส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวม เป็นการแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดีของชาติ และสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทย ในขณะเดียวกัน สถาบันการต่างประเทศฯ ยังมีภารกิจหลักในการพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศทุกสายงาน เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถสนับสนุนการดำเนินภารกิจในองค์รวมของกระทรวงการต่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นควบคู่กันด้วย
สำหรับการดำเนินการในระดับประเทศ สถาบันการต่างประเทศฯ มีการบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐ ด้วยการให้บริการทางวิชาการในรูปแบบหลากหลาย เช่น การอบรมให้กับบุคลากรของหน่วยงานภายนอกที่จะเป็นผู้แทนไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานในต่างประเทศ การเผยแพร่ความรู้ด้านนโยบายการต่างประเทศ งานพิธีการทูต เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตและทางการกงสุล มารยาทสากล รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านกฎหมาย และทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่าง ๆ การเจรจา การนำเสนอต่อหน้าสาธารณชนด้วยภาษาอังกฤษ เป็นต้น
นอกจากนี้ สถาบันการต่างประเทศฯ ยังเป็นหน่วยงานกลางของภาคราชการไทยในการทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษให้กับบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐที่ประสงค์จะใช้ผลการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อสมัครรับทุนศึกษาต่อ ฝึกอบรม ดูงาน ปฏิบัติงานวิจัยในต่างประเทศและในหลักสูตรนานาชาติและโครงการพิเศษต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.พ. ทั้งนี้ หน่วยงานสามารถใช้ประโยชน์จากผลการทดสอบภาษาอังกฤษสำหรับการบริหารและการวางแผนพัฒนาบุคลากรขององค์กรได้ เช่น การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารขององค์กร การคัดเลือกผู้แทนไปประจำสำนักงานในต่างประเทศ และการพิจารณาให้ค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษสำหรับผู้มีศักยภาพด้านภาษาต่างประเทศ
กอปรกับในปัจจุบันเรื่องการต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานด้านการต่างประเทศของไทย สถาบันการต่างประเทศฯ จึงให้ความสำคัญกับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการทูตและการต่างประเทศสู่สาธารณชน ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา โดยให้บริการทางวิชาการผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การจัดบรรยายพิเศษ การสัมมนา โครงการรับนักศึกษาฝึกอบรมและฝึกงานที่กระทรวงการต่างประเทศ การจัดทำสื่อและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการทูตการต่างประเทศในวงกว้าง ซึ่งเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สถาบันการต่างประเทศฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเมื่อปี 2562 ได้รื้อฟื้นศูนย์ศึกษาการต่างประเทศขึ้นอีกวาระหนึ่ง มีภารกิจในการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาระดับโลกและภูมิภาค (global and regional issues) รวมถึงนโยบายการต่างประเทศ ดำเนินงานในลักษณะ Track 1.5 / Track 2 ของกระทรวงการต่างประเทศ
ในระดับสากล สถาบันการต่างประเทศฯ เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับมิตรประเทศทั่วโลกและกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ โดยการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันฝึกอบรมนักการทูตและหน่วยงานพัฒนาบุคลากรของมิตรประเทศ เช่น การจัดทำบันทึกความเข้าใจ การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่นักการทูตของนานาประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การส่งนักการทูตไทยไปเข้าร่วมฝึกอบรมในหลักสูตรที่จัดโดยประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการประสานความร่วมมือและส่งเสริมความเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานและสถาบันฝึกอบรมนักการทูต ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านหลักสูตรฝึกอบรม และการเข้าร่วมการประชุมในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการทูตการต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 60 ปีนับจากการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน สถาบันการต่างประเทศฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินภารกิจให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ดังวิสัยทัศน์และพันธกิจตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาคมโลก ซึ่งสถาบันการต่างประเทศฯ จะธำรงไว้และสืบสานภารกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่องตลอดไป
สถาบันการต่างประเทศฯ ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน ได้แก่
1. ส่วนยุทธศาสตร์และบริหารกลาง
2. ส่วนพัฒนาบุคลากรและการเรียนรู้
3. ศูนย์ภาษาต่างประเทศ
4. ส่วนมาตรฐานและประเมินผล
5. ส่วนงานทุนและความร่วมมือ
6. ส่วนงานวิชาการ
7. ศูนย์ศึกษาวิจัยทางยุทธศาสตร์
หน่วยงานของสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ
1. ส่วนยุทธศาสตร์และบริหารกลาง
ดำเนินภารกิจด้านงานยุทธศาสตร์และอำนวยการของสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ประกอบด้วยงานด้านต่าง ๆ ดังนี้ งานบริหารบุคลากร บริหารงบประมาณ งานธุรการและสารบรรณ การจัดซื้อจัดจ้าง ควบคุมและดูแลอุปกรณ์ พัสดุ ครุภัณฑ์ อาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม ยานพาหนะ รวมถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร ตัวชี้วัดองค์กร ตัวชี้วัดรายบุคคล กิจกรรมพัฒนาสมรรถนะองค์กร การสื่อสารภายในองค์กร ระบบฐานข้อมูลงานพัฒนาบุคลากร และการดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ การเผยแพร่องค์ความรู้ (KM) และการขอรับการจัดสรรทุน ก.พ. สำหรับข้าราชการสายงานวิชาการที่ปฏิบัติงานประจำกระทรวงการต่างประเทศ (Home-based staff)
2. ฝ่ายพัฒนาบุคลากรและการเรียนรู้
มีภารกิจหลัก คือ การพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศในทุกระดับและทุกสายงานด้วยการจัดการฝึกอบรมเพื่อให้องค์ความรู้ เสริมสร้างทักษะเฉพาะที่จำเป็น รวมถึงการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อองค์กร โดยเนื้อหาของหลักสูตรและวิชาถูกออกแบบขึ้นตามวัตถุประสงค์เฉพาะของผู้เข้าอบรมทำให้มีความแตกต่างกันในด้านเนื้อหา / รูปแบบ และวิธีการ ประกอบด้วยส่วนองค์ความรู้ (Knowledge) การพัฒนาทักษะ (Skills) และทัศนคติ (Attitude) เพื่อให้เหมาะกับความต้องการในการปฏิบัติงาน สำหรับการจัดอบรมนักการทูต สถาบันการต่างประเทศฯ ได้จัดให้มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องตามวาระการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ระดับแรกเข้าไปจนถึงระดับเอกอัครราชทูต รวม 9 หลักสูตร เพื่อให้มีความรู้และความสามารถรอบด้านและทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค สามารถปฏิบัติงานเพื่อการส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างดีที่สุด รวมทั้งดำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของชาติและการสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังจัดหลักสูตรอบรมให้กับบุคลากรของหน่วยงานภายนอกที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทยไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานอย่างมีเอกภาพ เสริมสร้างบูรณาการของการปฏิบัติราชการในต่างประเทศภายใต้ทีมประเทศไทย เพื่อร่วมกันสนับสนุน ปกป้อง รักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
สถาบันการต่างประเทศฯ ดำเนินการจัดอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้ในมิติที่รอบด้านให้กับข้าราชการทุกระดับและทุกสายงานตามวาระการปฏิบัติงาน ดังนี้
หลักสูตรสำหรับนักการทูต
• หลักสูตรนักการทูตแรกเข้ากระทรวงการต่างประเทศ
• หลักสูตรข้าราชการไปประจำการในต่างประเทศระดับเลขานุการและที่ปรึกษา (ระบบเลื่อนไหล)
• หลักสูตรเสริมสร้างทักษะการบริหารสำหรับนักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา)
• หลักสูตรฝึกอบรมอัครราชทูตที่ปรึกษา และที่ปรึกษาไปประจำการในต่างประเทศ
• หลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการบริหารสำหรับผู้อำนวยการและเลขานุการกรม
• หลักสูตรนักบริหารการทูต (นบท.)
• หลักสูตรงานบริหารในต่างประเทศสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ และอัครราชทูต
• หลักสูตรงานบริหารในต่างประเทศสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต
• หลักสูตรพัฒนาแนวคิด เพื่อปรับชีวิตสู่จุดหมาย
หลักสูตรสำหรับข้าราชการสายสนับสนุน
• หลักสูตรข้าราชการสายสนับสนุนบรรจุใหม่
• หลักสูตรเจ้าหน้าที่คลังของสำนักงานในต่างประเทศ
• หลักสูตรข้าราชการที่จะไปประจำการต่างประเทศ
• หลักสูตรเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงานสำหรับข้าราชการสายสนับสนุน
หลักสูตรสำหรับข้าราชการและบุคลากรหน่วยงานอื่น
• หลักสูตรหัวหน้าหน่วยงาน รองหัวหน้าฯ ของส่วนราชการประจำการในต่างประเทศพร้อมคู่สมรส
หลักสูตร / กิจกรรม เพื่อพัฒนาสมรรถนะ / ทักษะการปฏิบัติงานเฉพาะ รวมทั้งหลักสูตรภาษา
3. ศูนย์ภาษาต่างประเทศ
ศูนย์ภาษาต่างประเทศเป็นหน่วยงานให้บริการด้านภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะทางด้านภาษาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้านภาษาของประเทศ โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะทางภาษาให้กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถ
ในการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการปฏิบัติงาน และการสื่อสารระหว่างประเทศ ประกอบด้วยหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
หลักสูตรสำหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
• หลักสูตรอบรมภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการสายการทูตไปประจำการในต่างประเทศ (Pre-Overseas Posting Programme: Integrated Skills)
• หลักสูตรอบรมภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการสายสนับสนุนไปประจำการในต่างประเทศ (Overseas Posting Programme)
• หลักสูตรเสริมทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Overseas Posting Intensive English Programme)
• หลักสูตรอบรมภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการสายสนับสนุนไม่ออกประจำการ (English for Home-Based Staff)
หลักสูตรสำหรับข้าราชการ / บุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐ
• หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับการปฏิบัติงาน (Intensive Language Course: ILC)
• หลักสูตรการเสนอผลงานและการพูดเพื่อการประชุม (Oral Communication Course: OCC )
• หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศชั้นสูง (Advanced Oral Communication Course: AOCC)
หลักสูตรภาษาต่างประเทศอื่น ๆ สำหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
• ภาษาต่างประเทศก่อนการออกประจำการในต่างประเทศ
• ภาษาต่างประเทศที่สอง ปัจจุบันมีทั้งหลักสูตรที่สถาบันการต่างประเทศฯ จัดอบรมและที่ให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศไปเข้าร่วมอบรมกับหน่วยงานของประเทศเจ้าของภาษาที่สถาบันการต่างประเทศฯ มีความร่วมมือ เช่น ภาษาประเทศอาเซียน ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน
4. ส่วนมาตรฐานและประเมินผล
เป็นหน่วยงานกลางในการทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษสำหรับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และบุคลากรในองค์กรอิสระของรัฐ เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้สมัครรับทุนรัฐบาลไทย ทุนรัฐบาลต่างประเทศ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นของหน่วยงาน เช่น ประกอบการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหาร การคัดเลือกให้ไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานของไทยในต่างประเทศและในองค์กรระหว่างประเทศ การพิจารณาให้ค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษสำหรับผู้มีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ (Language Allowance) นอกจากนี้ ยังมีภารกิจงานด้านอื่น อาทิ
• การพัฒนาข้อสอบภาษาอังกฤษให้มีมาตรฐานระดับสากล โดยใช้มาตรฐานการวัดระดับความสามารถทางภาษาตามแนวทางของ Common European Framework of Reference (CEFR) สหภาพยุโรป
• ดำเนินการจัดทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาต่างประเทศอื่น สำหรับผู้ที่ขอรับพิจารณาการมีปัจจัยเงินเดือนแรกบรรจุ กรณีมีปัจจัยด้านภาษาต่างประเทศ
• มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการทดสอบภาษาต่างประเทศที่มีมาตรฐาน
5. ส่วนงานทุนและความร่วมมือ
มีหน้าที่และภารกิจหลักในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยดำเนินการผ่านกลไก 3 ด้าน ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกับสถาบันการต่างประเทศ สถาบันฝึกอบรมทางการทูต และสถาบันทางวิชาการของต่างประเทศ (2) หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น และ (3) การเข้าร่วมประชุมในกรอบเวทีระหว่างประเทศ
ส่วนงานทุนและความร่วมมือได้ขยายความร่วมมือกับสถาบันการต่างประเทศ สถาบันฝึกอบรมทางการทูต และสถาบันทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือน โครงการฝึกอบรม การประชุมระหว่างประเทศ และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับข้าราชการและนักการทูตต่างประเทศ มีภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
หลักสูตรระยะสั้นสำหรับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
• การอบรมระยะสั้นในต่างประเทศที่เสนอโดยสถาบันการต่างประเทศ สถาบันฝึกอบรมทางการทูต และสถาบันทางวิชาการของต่างประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและมหาวิทยาลัย
การจัดการฝึกอบรมให้กับนักการทูตต่างประเทศ
• กลุ่มนักการทูตจากประเทศเพื่อนบ้าน
• กลุ่มนักการทูตเอเชีย-แปซิฟิก และลาตินอเมริกา
• กลุ่มนักการทูตแอฟริกา
ความร่วมมือกับสถาบันการต่างประเทศ / สถาบันฝึกอบรมทางการทูตสถาบันทางวิชาการของต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ
• บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกับสถาบันการต่างประเทศ สถาบันฝึกอบรมทางการทูต และสถาบันทางวิชาการ
• การเข้าร่วมประชุมในกรอบเวทีต่างประเทศ : Annual Meeting of Deans and Directors of Diplomatic Academies and Institute of International Relations (IFDT) รวมถึง Annual Meeting of Deans and Directors of Diplomatic Training Institutions of ASEAN+3
• การให้ความร่วมมือกับกับสหประชาชาติในการจัดการอบรมนักกฎหมายจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
• การจัดการอบรมด้าน Multilateral Diplomacy และด้านอื่น ๆ กับสถาบันวิจัยและฝึกอบรมแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา
• การจัดการอบรมร่วมกับมูลนิธิเอเชีย - ยุโรป
• การอบรมด้านภาษาและวัฒนธรรม
6. ส่วนงานวิชาการ
ส่วนงานวิชาการ / โครงการวิชาการ / สัมมนา / เผยแพร่ มีภารกิจหลักในการรวบรวม สังเคราะห์ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการทูตและการต่างประเทศที่ได้จากบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญด้านการทูตและการต่างประเทศทั้งของไทยและต่างประเทศให้กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ และสาธารณชน ตลอดจนการสนับสนุนภารกิจด้านวิชาการของกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ บทความทางวิชาการ การบรรยาย การสัมมนา การปาฐกถาพิเศษ การประชุมระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการทูตและการต่างประเทศ
7. ศูนย์ศึกษาวิจัยทางยุทธศาสตร์ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ
จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2530 โดย พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และมีเอกอัครราชทูตแผน วรรณเมธี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้อำนวยการคนแรก ในช่วงสองทศวรรษแรกของการจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศได้ดำเนินกิจกรรมด้านวิชาการต่าง ๆ เช่น การจัดบรรยายและสัมมนา การระดมสมองระหว่างข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยราชการต่างๆ กับนักวิชาการ ภาคเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชนและผู้แทนภาคประชาสังคม นอกจากนั้น ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันวิชาการทั้งในประเทศและในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมา ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศได้ยุติการปฏิบัติงานไประยะหนึ่ง และงานบางส่วนได้ถูกมอบหมายให้หน่วยงานอื่นภายใต้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแทน แต่โดยที่ในปัจจุบัน สถานการณ์โลกและภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อปี 2562 กระทรวงการต่างประเทศ จึงรื้อฟื้นศูนย์ศึกษาการต่างประเทศขึ้นอีกวาระหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาระดับโลกและภูมิภาค (global and regional issues) และนโยบายด้านการต่างประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น การเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจนทำหน้าที่เชื่อมต่อกับ “ชุมชนด้านการต่างประเทศ” ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
-------------------