ประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ

ประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 มิ.ย. 2566

| 79,184 view

 

devawongse-varopakarn
 
                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (องค์ต้นราชสกุล “เทวกุล”) ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2401 (ปีมะเมีย) ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 42 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นลำดับที่ 2 ในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
 
                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2428 ขณะพระชันษา 27 ปี ถึง วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุด และอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 38 ปี 16 วัน และในช่วงที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี คุณูปการที่สำคัญยิ่งของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการคือการการรักษาอธิปไตยของไทย ทรงจัดทำสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศส และทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจอื่นๆ อาทิ รัสเซีย เยอรมนี
 
                ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภารกิจด้านการต่างประเทศหลายประการ อาทิ ทรงจัดและปรับปรุงรูปแบบกรมกองให้ทันสมัย ทรงขอพระราชทานที่ทำการ เพื่อให้เป็น “ศาลาว่าการต่างประเทศ” ซึ่งนับว่าเป็นกระทรวงแรกที่มีศาลาว่าการกระทรวงเป็นที่ทำการแทนการใช้บ้านเสนาบดีเป็นที่ทำการ ทรงเปิดสำนักงานผู้แทนทางการทูตของไทยในต่างประเทศ เช่น สถานทูตไทย ณ สำนักเซนต์ เจมส์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน
 
                นอกจากการปรับปรุงวิธีการทำงานและการบริหารราชการแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงเอาพระทัยใส่ในคุณภาพของบุคลากร ทรงส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยทรงจัดตั้งแผนกสอนภาษาอังกฤษให้แก่ข้าราชการ เสมียนและพนักงาน ทรงวางระเบียบวิธีเขียนหนังสือราชการ อีกทั้งทรงคัดเลือกนักเรียนส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกด้วย
 
                ทรงมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน อาทิ ภาษาไทย ภาษามคธ ภาษาอังกฤษ และวิชาเลข นอกจากนี้ ยังทรงมีความสนพระทัยในเรื่องโหราศาสตร์และสมุนไพร ทรงเป็นผู้คิดปฏิทินตามสุริยคติ นับวันและเดือนแบบสากล เรียกว่า “เทวะประติทิน” ซึ่งเป็นต้นแบบของปฏิทินในปัจจุบัน พร้อมทั้งทรงเป็นผู้คิดชื่อเดือน มีการแบ่งชื่อเรียกเดือนที่มี 30 วัน และ 31 วันชัดเจนด้วยการใช้คำนำหน้าจากชื่อราศี สมาสกับคำว่า “อาคม” และ “อายน” ที่แปลว่า การมาถึง
 
                สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2466 รวมพระชนมายุได้ 64 ปี 7 เดือน 1 วัน และในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2466