ประวัติสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ

ประวัติสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2566

| 22,003 view
 
1. ความเป็นมา: จากอดีตถึง พ.ศ. 2509

                  การฝึกอบรมข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศในยุคแรก อาศัยการปฏิบัติงานเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ การเรียนรู้จากการทำงาน (learning by doing หรือ on-the-job training) และใช้ระบบการฝึกฝน (apprenticeship) ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ ทักษะการทำงาน ทัศนคติ และประสบการณ์ที่ซ่อนตัวอยู่ (tacit knowledge) ในบุคลากรจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการสอนงานโดย “รุ่นพี่” หรือ “ผู้ใหญ่” เป็นหลัก

SNAG-0037

                  เมื่อ พ.ศ. 2505 พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เริ่มจัดการฝึกอบรมข้าราชการอย่างเป็นทางการในลักษณะการอบรมเป็นระยะ (In-Service Training) โดยใช้รูปแบบการสัมมนา เน้นการ  ปฏิบัติ เช่น การร่างหนังสือราชการภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ระเบียบสารบรรณ ระเบียบและคำสั่งกระทรวงฯ และในระยะแรก มุ่งเน้นอบรมข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ ต่อมา จึงเริ่มจัดฝึกอบรมให้รวมข้าราชการทั้งหมดและเริ่มมีแนวคิดที่จะให้มีข้าราชการจากหน่วยงานอื่นที่มีส่วนราชการของตนในต่างประเทศ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเศรษฐการ และกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วม เนื้อหาของหลักสูตรส่วนใหญ่ ได้แก่ การปฏิบัติราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ระเบียบพิธีปฏิบัติทางการทูต กฏหมาย และสนธิสัญญา เศรษฐกิจ ภาษาอังกฤษ และการเชิญข้าราชการระดับสูง อดีตเอกอัครราชทูตและผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการต่างๆ เช่น พ.ศ. 2509 นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรวิชาเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน เป็นวิทยากรเกี่ยวกับศาสนา และพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี บรรยายประสบการณ์ในการรับราชการในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 

2. ยุคก่อตั้ง: พ.ศ. 2510 - พ.ศ 2516

                  เมื่อ พ.ศ. 2510 กระทรวงการต่างประเทศเห็นความจำเป็นที่จะฝึกอบรมข้าราชการ “เป็นประจำและมีลักษณะถาวร” จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้อนุมัติการจัดตั้งสถาบันการต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2510 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้ง “สถาบันการต่างประเทศ” ในกระทรวงการต่างประเทศ มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของกองการเจ้าหน้าที่และฝึกอบรม สำนักงานปลัดกระทรวง สำหรับการดำเนินการจัดการฝึกอบรมที่มีมาก่อนหน้านี้นั้นได้มีการพัฒนาจัดวางเป็นหลักสูตรหลัก 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรฝึกอบรมสำหรับข้าราชการแรกเข้า หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการที่อยู่ในเกณฑ์จะไปประจำการในต่างประเทศ หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการระดับนายเวร (Attaché) และเลขานุการตรี (Third Secretary) หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการระดับเลขานุการโท (Second Secretary) และเลขานุการเอก (First Secretary) และหลักสูตรการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ

 

3. ยุควางรากฐาน: พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2544

นายจรูญพันธุ์

                  การเปิดสถาบันการต่างประเทศอย่างเป็นทางการมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2517 ในสมัยของรัฐมนตรีจรูญพันธุ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ต่อมาในสมัยของรัฐมนตรี พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา จึงแยกสถาบันการต่างประเทศออกจากกองการเจ้าหน้าที่และฝึกอบรมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2527 โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและงบประมาณของตน และตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา มีภารกิจด้านการพัฒนาบุคลากรและการสัมมนาและเผยแพร่ด้านนโยบายการต่างประเทศ และได้มีการจัดโครงสร้างภายใน (ซึ่งประกอบด้วยงานฝึกอบรม งานทุน ศูนย์ภาษาต่างประเทศ และศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ) ในส่วนของกลไกการบริหารงานนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (เจ้าหน้าที่การทูต ระดับ 10) เป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะ “ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศ” ขึ้นตรงต่อรองปลัดกระทรวงฯ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศท่านแรก คือ เอกอัครราชทูตอุรัจฉทา รอดประเสริฐ ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2527 - 2543 ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการนโยบาย (Policy Council) ซึ่งมี พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ เป็นประธาน และคณะกรรมการอำนวยการ (Board of Directors) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานโดยตำแหน่ง เป็นกลไกด้านนโยบายและกำหนดแนวทางการดำเนินงาน


                  อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2530 กระทรวงการต่างประเทศได้แยกศูนย์ศึกษาการต่างประเทศออกจากสถาบันการต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัยนโยบายการต่างประเทศ โดยมีอดีตเอกอัครราชทูตดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ ขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงฯ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศท่านแรก ได้แก่ เอกอัครราชทูตแผน วรรณเมธี ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2530 - 2534

 

4. ยุคปฏิรูประบบราชการ: พ.ศ. 2545 - 2548 ก้าวที่สองของสถาบันการต่างประเทศ

                  จากการปฏิรูประบบราชการเมื่อ พ.ศ. 2545 สถาบันการต่างประเทศได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจด้านการฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับหน่วยงานภายนอกและเป็นศูนย์กลางการทดสอบภาษาอังกฤษของภาครัฐ สืบต่อจากกรมวิเทศสหการ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2547 สถาบันการต่างประเทศได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นหน่วยงานระดับสำนัก และปรับปรุงกลไกการบริหาร จากเดิมซึ่งมีผู้บังคับบัญชาระดับเดียว คือ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (เจ้าหน้าที่การทูต 10) เป็นหน่วยงานที่มีผู้บริหาร 2 ระดับ คือ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศ (ระดับ 9) เป็นผู้บังคับบัญชา (เปรียบเสมือน “Director” ของสถาบันฝึกอบรมทางการทูตของต่างประเทศ) และมีเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (ระดับ 10) สั่งและปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงฯ กำกับดูแล (เปรียบเสมือน “Dean”) ขึ้นตรงต่อรองปลัดกระทรวงฯ ฝ่ายอำนวยการ

                  เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงท่านแรกที่กำกับดูแลงานของสถาบันการต่างประเทศในยุคปฏิรูประบบราชการนี้ คือ เอกอัครราชทูตจิตริยา ปิ่นทอง ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2544 - 2545 และผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศ (ระดับ 9) ท่านแรก คือ นายเชต ธีรพัฒนะ

                  อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2546 กระทรวงฯ ได้จัดตั้งสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินภารกิจด้านศึกษาวิจัยนโยบายการต่างประเทศ แทนศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ และในขณะเดียวกันได้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์

 

 5. ยุคปัจจุบัน: พ.ศ. 2549 ถึงปัจจุบัน จากสถาบันการต่างประเทศสู่สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ

                  ใน พ.ศ. 2549 สถาบันการต่างประเทศได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นชื่อหน่วยงาน มีชื่อและสถานะอย่างเป็นทางการตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 ว่า “สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ” สืบสานและต่อยอดภารกิจด้านการพัฒนาบุคลากรการทูตและการต่างประเทศของไทยและต่างประเทศ

                   อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2557 เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกับสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ถ่ายโอนภารกิจ บุคลากรและงบประมาณของสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์กลับมายังสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ และใช้ชื่อเดิมว่า ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center - ISC)

 

สถานที่ทำการของสถาบันการต่างประเทศฯ

138706

พ.ศ. 2527 – 2532 กระทรวงการต่างประเทศ  วังสราญรมย์

138705

พ.ศ. 2532 – 2537 กระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา (อาคารองค์การ สปอ. - SEATO)

 

138704

พ.ศ. 2537 – 2542 อาคารพหลโยธินเพลส ชั้น 29

138703

พ.ศ. 2542 – 2554 กระทรวงการต่างประเทศ อาคารถนนศรีอยุธยา

138702

พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน ชั้น 7 อาคารรัฐประศาสนภักดี  (ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกิยรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ)

 

*************************************