Knowledge of Diplomacy (KOD)

1. หลักการและเหตุผล
               กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเสริมสร้าง และกระชับความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศเพื่อรักษาบรรยากาศที่เอื้ออำนวยและเป็นรากฐานที่มั่นคงของการขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อยกสถานะและเชิดชูเกียรติภูมิของไทยในเวทีโลก ตลอดจนคุ้มครอง และส่งเสริมประโยชน์ของประเทศและประชาชน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายในภาพรวมของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมและดำเนินงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล
 
               ส่วนงานทุนและความร่วมมือ สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ จึงกำหนดจัดหลักสูตรอบรมนานาชาติสำหรับนักการทูตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการต่างประเทศขึ้น โดยจัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 ภายใต้ชื่อหลักสูตร “Knowledge of Diplomacy with a Special Focus on ASEAN” เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการทูตการต่างประเทศ องค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและประชาคมอาเซียน และนับแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา ได้ปรับชื่อหลักสูตรเป็น “Knowledge of Diplomacy: Sustainable  Development and the Sufficiency Economy” เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำเสนอบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของแต่ละประเทศ และส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการพัฒนากับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสร้างทัศนคติที่ดี
ต่อไทยของนักการทูตของประเทศที่เข้าร่วม
 
2. วัตถุประสงค์ 
               2.1 เพื่อเป็นการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศในการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของไทยและบทบาทของไทยในภูมิภาคในเวทีระหว่างประเทศ
               2.2 เพื่อเผยแพร่บทบาทของไทยด้านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ       ในลักษณะหุ้นส่วน มีความพร้อมในการรับมือความท้าทายร่วมกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
               2.3 เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีของนักการทูตจากภูมิภาคต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ อันจะเป็นประโยชน์ในการประสานงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอื่น ๆ ระหว่างกันต่อไปในอนาคต
               2.4 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมโลกเห็นศักยภาพและจุดเด่นของไทย ตลอดจนให้มี               ความเข้าใจต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในไทย อันจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยในเชิงลึกทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
 
3. กลุ่มเป้าหมาย
               นักการทูตจากประเทศที่มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับไทย และมีความร่วมมือ / ความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย / สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายยุทธศาสตร์ของไทย โดยเป็นนักการทูต / ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการทูตการต่างประเทศ 2 - 5 ปี จำนวน 15 - 20 ราย 
 
4. องค์ประกอบหลักสูตร   
               หลักสูตร KOD มีเนื้อหาใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
               4.1 ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย 
               4.2 ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 
               4.3 ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน 
               4.4 ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักการทูต 
               4.5 การศึกษาดูงานเกี่ยวกับโครงการตามพระราชดำริ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ศักยภาพของบริษัทเอกชนของไทย รวมถึงการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ 
               4.6 Paper Presentation ในหัวข้อ “What is the model of sustainable development in your country?”
 
5. องค์ความรู้ที่ได้รับ 
               การอบรมเป็นโอกาสที่นักการทูตต่างชาติสามารถนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่และต่อยอดในประเทศของตน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อคิดเห็นและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางเพื่อช่วยให้ชุมชนมีความสุขที่สมดุล นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม นอกจากนี้ การนำเสนอรายงานของแต่ละประเทศ (Country Presentation) จะส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับความพยายามและการให้ความสำคัญของแต่ละประเทศในการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
 
6. ทักษะที่ได้รับ 
               หลักสูตรนี้จัดให้มีการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษที่จำเป็นสำหรับนักการทูตด้วย อาทิ การพูดในที่สาธารณะ การเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ Impromptu Speech และ Presentation Skills อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่
 
7. ทัศนคติ
               นอกจากความรู้ด้านวิชาการที่ได้จากการอบรมแล้ว หลักสูตรยังเป็นโอกาสให้นักการทูตไทยและนักการทูตต่างชาติได้ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยและสานสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีในการประสานงานและความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างกันในอนาคต  นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกการเสริมองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย รวมถึงมุมมองและแนวคิดด้านการต่างประเทศของไทยในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้นักการทูตต่างชาติเข้าใจถึงวิถีไทยมากขึ้น นับเป็นการสร้างความประทับใจและทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

 
 
หลักสูตร KOD ปี 2562

12 พ.ค. 2563

หลักสูตร KOD 2561

12 พ.ค. 2563

หลักสูตร KOD 2560

12 พ.ค. 2563